วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

วันปล่อยผี : ประเพณีสิบสองเป็งล้านนา

12  เป็ง  หรือขึ้น 15  ค่ำเดือน 12  หนเหนือ
ตรงกับวันไหว้พระจันทร์
และเดือน 12 หนเหนือ ยังตรงกับประเพณีของคนไทยภาคกลาง ไทยภาคใต้คืองานเทศกาลสารเดือน 10
ก็ทำบุญคล้าย ๆ กับทางเหนือเราเหมือนกัน



12  เป็ง เป็นช่วงปล่อยผีต๋ายเก่าเน่าเมินมารับของกิ๋นของตาน (ของกิ๋นของตาน คือ ของที่ทำบุญ เช่น อุปกรณ์ เครื่องปรุง วัตถุดิบในการทำอาหาร  อาหารแห้ง  อาหารสด  อาหารปรุงสุก และผลไม้) ตามความเชื่อแบบล้านนา
คนเฒ่าบะเก่า (คนโบราณ) ว่าไว้  ลูกหลานคนใดบะตานหา  ผีต๋ายเก่าเน่าเมิน (ผีบรรพบุรุษ) วงศ์คณาญาติที่ล่วงลับไปแล้วในช่วง  12 เป็ง ผีจะแจ่งหัว (สาปแช่ง) เมื่อบะได้กิ๋นของกิ๋นของตานเหมือนผีตนอื่น
บางบ้านจึงนิยมตานก๋วยสลาก 
บางบ้านตานก๋วยสัง  (ตานก๋วยสัง  เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวบ้านในตำบลสันทรายมหาวงศ์ เชียงใหม่ และชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง)  นิยมตานก๋วยสัง คือ สลากหน้อย  ซึ่งก็เหมือนกับตานสลาก   แต่เรื่องครัวตาน (เครื่องสำหรับประกอบการทำบุญ) นั้นก็มากพอ ๆ กับสลาก แต่จะมีก๋วยหน้อยมากมายในการทำบุญ
เครื่องครัวตานในก๋วยสังจะประกอบไปด้วย  เมียง  บุหรี่ขี่โย  ไม้ขีดไฟ  เกลือ  พริกแห้ง  หอม  กระเทียม  ข้าวสาร  ห่อนึ่ง  ผลไม้  ขนมจ๊อก สวยดอก เป็นต้น  โดยจะนำเอาเครื่องครัวตานเหล่านี้จัดเป็นกอง ๆ ใส่ตะกร้าหรือพาชนะที่เตรียมไว้ตามจำนวนก๋วยสัง





ซึ่งช่วงเช้าตรู่อาจจะมีการตานขันข้าวหาเจ้ากรรมนายเวร  เทวบุตร  เทวดา  หรืออุทิศส่วนกุศลให้ตนเองในภายภาคหน้า
สาย ๆ จะตานก๋วยสังบนวิหารหลวง  เพื่อให้ผีบรรพบุรุษ ปู่ย่า  ตายาย  พ่อ แม่พี่ น้อง วงศ์คณาญาติ  ที่ล่วงลับไปแล้วมารับอานิสงส์การทำบุญตานอย่างทั่วถึงตามจำนวนของคนที่ล่วงลับ
นับว่าเป็นเทศกาลงานบุญใหญ่ของชาวล้านนาอีกเทศกาลที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตและความเชื่อของพุทธศาสนาในแบบชาวล้านนา

หวังว่าลูกหลานชาวล้านนาไทย จะยึดมั่นในประเพณีบ้านเราให้คงอยู่ตลอดไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น