วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

ภาพบรรยากาศการทำบุญประเพณี 12 เป็ง

ภาพบรรยากาศการทำบุญประเพณี 12 เป็ง




12  เป็ง  หรือขึ้น 15  ค่ำเดือน 12  หนเหนือ

ในแบบของชาวบ้านในเขตตำบลสันทรายมหาวงศ์ และตำบลขัวมุง  อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ บางส่วนที่มีลักษณะของประเพณีท้องถิ่นที่เหมือนกัน  ได้แก่  วัดต้นผึ้ง  วัดศรีดอนชัย  วัดป่าสา  วัดหัวดง 
ซึ่งนิยมเรียกลักษณะของสิ่งของที่ประกอบพิธีกรรมว่า
สลากน้อยหรือสลากหน้อย 
ก๋วยสังน้อยหรือก๋วยสังหน้อย
บ้างก็เรียกว่า  สลากเทวดา


ซึ่งกล่าวโดยรวมแล้วคือการทำบุญ ในประเพณี  12  เป็ง เป็นช่วงปล่อยผีตามความเชื่อของผู้เฒ่าผู้แก่ ให้มารับของกิ๋นของตาน (ของกิ๋นของตาน คือ ของที่ทำบุญ เช่น อุปกรณ์ เครื่องปรุง วัตถุดิบในการทำอาหาร  อาหารแห้ง  อาหารสด  อาหารปรุงสุก และผลไม้) ตามความเชื่อแบบล้านนา
ซึ่งประเพณี 12 เป็ง  ตามความเชื่อของผู้เฒ่าผู้แก่บ้านต้นผึ้ง  ได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมทางพุทธศาสนา เรื่อง พระมาลัย  ที่ว่าไว้ด้วยโลกมนุษย์  สวรรค์  และนรก
ประเพณี 12  เป็งจึงเป็นความเชื่อแบบล้านนาที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลาย
ดังนั้นเว็บ newnaew.net จึงประมวลภาพบรรยากาศการทำบุญให้เด็ก ๆ นักเรียน  นักศึกษาที่สนใจเรื่องราวของการทำบุญประเพณี 12  เป็ง ในแบบของชาวสันทรายมหาวงศ์บางส่วนที่การทำบุญกันในลักษณะนี้    ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเฉพาะของท้องถิ่นที่สืบทอดกันมายาวนานนับจนถึงปัจจุบันนี้




ภาพที่นำเสนอนี้เป็นภาพกิจกรรมการทำบุญเนื่องในงานประเพณี 12  เป็ง  บ้านต้นผึ้งเมื่อวันที่ 19  กันยายน 2556
ขอขอบคุณเจ้าอาวาสวัดต้นผึ้งและคณะศรัทธาบ้านต้นผึ้งที่เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายภาพ

ผู้จัดทำ
ทีมงาน newnaew
วันที่

19  กันยายน 2556

วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

วันปล่อยผี : ประเพณีสิบสองเป็งล้านนา

12  เป็ง  หรือขึ้น 15  ค่ำเดือน 12  หนเหนือ
ตรงกับวันไหว้พระจันทร์
และเดือน 12 หนเหนือ ยังตรงกับประเพณีของคนไทยภาคกลาง ไทยภาคใต้คืองานเทศกาลสารเดือน 10
ก็ทำบุญคล้าย ๆ กับทางเหนือเราเหมือนกัน



12  เป็ง เป็นช่วงปล่อยผีต๋ายเก่าเน่าเมินมารับของกิ๋นของตาน (ของกิ๋นของตาน คือ ของที่ทำบุญ เช่น อุปกรณ์ เครื่องปรุง วัตถุดิบในการทำอาหาร  อาหารแห้ง  อาหารสด  อาหารปรุงสุก และผลไม้) ตามความเชื่อแบบล้านนา
คนเฒ่าบะเก่า (คนโบราณ) ว่าไว้  ลูกหลานคนใดบะตานหา  ผีต๋ายเก่าเน่าเมิน (ผีบรรพบุรุษ) วงศ์คณาญาติที่ล่วงลับไปแล้วในช่วง  12 เป็ง ผีจะแจ่งหัว (สาปแช่ง) เมื่อบะได้กิ๋นของกิ๋นของตานเหมือนผีตนอื่น
บางบ้านจึงนิยมตานก๋วยสลาก 
บางบ้านตานก๋วยสัง  (ตานก๋วยสัง  เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวบ้านในตำบลสันทรายมหาวงศ์ เชียงใหม่ และชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง)  นิยมตานก๋วยสัง คือ สลากหน้อย  ซึ่งก็เหมือนกับตานสลาก   แต่เรื่องครัวตาน (เครื่องสำหรับประกอบการทำบุญ) นั้นก็มากพอ ๆ กับสลาก แต่จะมีก๋วยหน้อยมากมายในการทำบุญ
เครื่องครัวตานในก๋วยสังจะประกอบไปด้วย  เมียง  บุหรี่ขี่โย  ไม้ขีดไฟ  เกลือ  พริกแห้ง  หอม  กระเทียม  ข้าวสาร  ห่อนึ่ง  ผลไม้  ขนมจ๊อก สวยดอก เป็นต้น  โดยจะนำเอาเครื่องครัวตานเหล่านี้จัดเป็นกอง ๆ ใส่ตะกร้าหรือพาชนะที่เตรียมไว้ตามจำนวนก๋วยสัง





ซึ่งช่วงเช้าตรู่อาจจะมีการตานขันข้าวหาเจ้ากรรมนายเวร  เทวบุตร  เทวดา  หรืออุทิศส่วนกุศลให้ตนเองในภายภาคหน้า
สาย ๆ จะตานก๋วยสังบนวิหารหลวง  เพื่อให้ผีบรรพบุรุษ ปู่ย่า  ตายาย  พ่อ แม่พี่ น้อง วงศ์คณาญาติ  ที่ล่วงลับไปแล้วมารับอานิสงส์การทำบุญตานอย่างทั่วถึงตามจำนวนของคนที่ล่วงลับ
นับว่าเป็นเทศกาลงานบุญใหญ่ของชาวล้านนาอีกเทศกาลที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตและความเชื่อของพุทธศาสนาในแบบชาวล้านนา

หวังว่าลูกหลานชาวล้านนาไทย จะยึดมั่นในประเพณีบ้านเราให้คงอยู่ตลอดไป


วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

หัตถกรรมพื้นบ้านล้านนา:ขันโตกหวาย

ขันโตกหวาย หัตถกรรมพื้นบ้านล้านนา




ขันโตกเป็นพาชนะใส่สำรับอาหารของคนเมืองหรือคนล้านนา  ซึ่งขันโตกก็เหมือนกับโต๊ะสำหรับนั่งล้อมวงกินข้าวกันในครอบครัวหรือต้อนรับแขกผู้มาเยือนซึ่งเป็นวัฒนธรรมของไทยแต่โบราณ  ซึ่งขันโตกเป็นคำเรียกเฉพาะของคนเหนือ
มักจะเห็นกันโดยทั่วไปในร้านอาหารหรือแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมภาคเหนือนิยมนำมาจัดสำรับอาหารต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยอาหารใส่ขันโตก ประกอบไปด้วยน้ำพริกหนุ่ม  แคบหมู  ลาบเลือดแบบเหนือ  ลาบคั่ว แกงฮ่อม  แกงฮังแล  จอผักกาด  น้ำพริกฮ่อง  เป็นต้น  ขันโตกที่นิยมใช้จะมีอยู่ 2  ลักษณะคือ  แบบที่ทำจากไม้และแบบที่สานจากหวาย  ตามรูปที่เห็นคือขันโตกหวาย

ปัจจุบันเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ เพราะงานหัตถกรรมจักรสานนับวันจะขาดผู้สืบทอดไปเรื่อย ๆ  หวังว่าน้อง ๆ จะช่วยกันสืบสานงานหัตถกรรมพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไปนะครับ


ผู้เขียน 
พยัคฆ์กูรู

วันที่เขียน
11/09/2556