วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2556

ประเพณี ปี๋ใหม่เมือง


ประเพณี ปี๋ใหม่เมือง


ตามความเชื่อของชาวล้านนา  ถือว่าวันสงกรานต์  เป็นวันขึ้นปีใหม่  ซึ่งลำดับความสำคัญของแต่ละวัน ดังนี้
วันสังขารล่อง  ตามประเพณีของชาวล้านนาวันนี้ทุกคนจะจุดประทัดตั้งแต่หลังเที่ยงขึ้นเป็นต้นไปถือว่าได้เป็นศักราชใหม่  ทุกบ้านจะตื่นแต่เช้าทำความสะอาดบ้านเรือน  เพื่อละทิ้งสิ่งเก่าให้ผ่านไปกับวันสังขารล่อง

วันเนา  หรือวันเน่า  ทุกคนจะพูดแต่สิ่งดี ๆ ทำแต่สิ่งดี ๆ  วันนี้เป็นวันแต่งดาของชาวล้านนา  ทุกบ้านจะทำขนม ข้าวต้ม  ห่อนึ่ง ส่วนใหญ่จะนิยมทำขนมจอก หรือขนมเทียน  ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะทำไส้ขนมจากมะพร้าวขูดเคี้ยวกับน้ำตาลจนแห้งแล้วปั้นเป็นก้อนห่อด้วยแป้งแล้วห่อด้วยใบตองนึ่ง  และจัดเตรียมสิ่งของสำหรับไปวัดในวันพญาวันหรือวันมหาสงกรานต์




วันพญาวัน  เป็นวันที่ทุกคนจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่  ใส่น้ำอบน้ำหอม  จัดเตรียมสิ่งของไปทำบุญให้กับวงศาคณาญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว   ฟังเทศฟังธรรม   และช่วงสาย ๆ จะมีการขนทรายเข้าวัดจัด และนำตุงไส้หมู  ไส้ช้าง  ตุงสิบสองนักษัตรไปปักที่กองเจดีย์ทราย
หลังจากนั้นแต่ละบ้านก็จะเตรียมของไปดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือ  อันได้แก่ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายพ่อ  ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายแม่  ครูบาอาจารย์ที่นับถือ  ดำหัวผีปู่ย่าประจำตระกูล  เนื่องจากชาวล้านนาส่วนใหญ่ยังคงนับถือผีบรรพบุรุษ  ดำหัวพ่อบ้าน/ผีที่รักษาหมู่บ้าน  เจ้าที่เจ้าดิน และบางบ้านที่มีครูต่าง ๆ ก็จะแต่งของดำหัวครูด้วยเครื่องเซ่นต่าง ๆ และน้ำขมิ้นส้มป่อย เพื่อเป็นสิริมงคล  
(วันพญาวัน มีข้อห้ามว่าห้ามเด็ดดอกไม้ หรือใบไม้ในวันนี้)

วันปากปี  เป็นวันที่ทุกบ้านจะเตรียมขนุนทำเป็นอาหารต่าง ๆ  เช่น  แกงขนุน  ยำขนุนอ่อน  เพื่อให้ตลอดทั้งปีมีแต่สิ่งที่ดี ๆ ช่วยหนุนนำให้ชีวิตประสบแต่ความสุขความเจริญ

ดังนั้นประเพณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเวณีปี๋ใหม่เมืองจึงเป็นประเพณีที่สำคัญอีกหนึ่งประเพณีที่คนเหนือพึงปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานจนถึงปัจจุบันนี้

ผู้เขียน
พยัคฆ์กูรู
วันที่เขียน
14/04/2556

ความเป็นมาของน้ำขมิ้นส้มป่อย


ส้มป่อย  ของดีเมืองล้านนา



สิ่งมงคลของชาวล้านนา 
ในวันขึ้นปีใหม่ไทย  ปีใหม่เมือง  หรือเทศกาลสงกรานต์
หรือพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวล้านนาส่วนใหญ่จะขาดไม่ได้คือฝักส้มป่อย  และต้องเป็นส้มป่อยเดือนห้า
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมของชาวล้านนา
เนื่องด้วยส้มป่อยเป็นสิ่งที่คนโบราณเชื่อกันว่าเป็นสิ่งมงคล  ช่วยล้างความอัปมงคลต่าง ๆ
คนที่ถือคาถาอาคม หรือคนมีครู  เช่น ครูสักยันต์   ครูหมอเมือง  ครูต่าง ๆ  หากผิดครูจะต้องทำพิธีขอขมาครูด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย
ซึ่งปรากฎหลักฐานตามความเชื่อจากนิทานจากพรหมจักร ชาดก ชาดกล้านนาเรื่อง "อุสสาบารส" และวรรณกรรมชาดกเรื่อง "ปุณณนาคกุมาร"
ซึ่งส่วนประกอบของน้ำขมิ้นส้มป่อย ประกอบไปด้วย   ฝักส้มป่อยเดือนห้า ดอกคำฝอย   ดอกสารภี   น้ำขมิ้น   น้ำอบน้ำหอม

ดังนั้นในพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ ของชาวล้านนาจะขาดไม่ได้  คือ  น้ำขมิ้นส้มป่อย ร่วมในพิธี  แม้กระทั่งปีใหม่เมืองน้ำขมิ้นส้มป่อยก็ขาดไม่ได้เช่นกัน  เนื่องจากใช้เป็นน้ำหยาดสำหรับกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล  พระภิกษุสงฆ์ใช้สำหรับพรมน้ำมนต์  ชาวบ้านใช้สำหรับรดน้ำพระพุทธรูป  พระบรมธาตุ  พระธาตุ   สิ่งศักดิ์ต่าง ๆ และใช้ในการรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่  ผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อขมา และขอพรตามความประสงค์

ส้มป่อยจึงผูกพันกับความเชื่อของชาวล้านนามาทุกยุคทุกสมัยไม่มีเสื่อมคลาย


ผู้เขียน
พยัคฆ์กูรู
วันที่เขียน
14/04/2556